เมื่อนมแม่มีปริมาณน้อยลง นมในสต็อคที่สะสมมาก็ใกล้จะหมดเต็มที ก็ถึงเวลาเริ่มนมชงให้กับเจ้าตัวน้อยแล้ว หรือสำหรับคุณแม่ที่ต้องทำงานนอกบ้าน ไม่สะดวกปั๊มนมเก็บไว้ อาจต้องเริ่มนมชงเร็วกว่าที่ควร แล้วจะเริ่มต้นอย่างไรดี วันนี้ Babekits มีวิธีมาบอกกันค่ะ

 

วิธีการเปลี่ยนนม จากนมแม่ เป็นนมชง ให้กับลูกน้อย

สลับนมชง กับนมแม่ วิธีการนี้ จะเหมาะกับคุณแม่ที่ต้องออกไปทำงานตอนกลางวัน คุณแม่สามารถให้ลูกทานนมจากเต้าได้เหมือนเดิม ในช่วงเช้าก่อนออกไปทำงาน และในช่วงเย็นหลังกลับมาจากที่ทำงานแล้วจนถึงก่อนนอน ส่วนในระหว่างวัน ที่ให้ญาติผู้ใหญ่ หรือพี่เลี้ยง ดูแลก็ให้เป็นนมชงจากขวดแทน ในช่วงแรกลูกน้อยอาจไม่ยอมทาน หรืองอแงหาเต้า ก็เป็นเรื่องปกติ วิธีนี้จะไปหนักที่คนเลี้ยงช่วงกลางวันนั่นเอง คุณแม่ควรทำความเข้าใจกับคนเลี้ยงเสียก่อน ส่วนคุณแม่ที่เป็นแม่บ้านเลี้ยงลูกอยู่แล้ว วิธีการนี้ค่อนข้างจะยาก เพราะลูกน้อยมักจะติดเต้า เค้าเห็นเต้าอยู่ตรงหน้า จะงอแงเป็นพิเศษ คุณแม่ต้องทำใจแข็งเข้าไว้ อย่าใจอ่อนให้กินเต้าเด็ดขาด

ผสมนมชง กับนมแม่ หากคุณแม่เคยลองให้นมชง แล้วลูกน้อยไม่ยอมทาน บ้วนทิ้ง นั่นก็เป็นเพราะเค้ารับรู้ถึงรสชาติที่เปลี่ยนไป ดังนั้น การผสมนมชงกับนมแม่ และค่อยๆปรับอัตราส่วนนมชงให้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นนมชงอย่างเดียวในที่สุด จะเป็นการค่อยๆปรับรสชาติ ให้ลูกน้อยคุ้นเคยเสียก่อน และเป็นวิธีที่คุณแม่นิยมเลือกใช้ที่สุด ส่วนการปรับอัตราส่วนนั้น ให้เริ่มจาก นมชง : นมแม่ เป็น 1 : 3 , 2 : 2 , 3 : 1 และ 4 : 0 ตามลำดับ โดยใช้เวลาในแต่ละการเปลี่ยนอัตราส่วนประมาณ 1-3 วัน

 

แบบหักดิบ เปลี่ยนจากนมเต้า มาเป็นนมชงจากขวดเลย ลูกน้อยที่ทานง่าย อาจไม่มีปัญหามากนัก แต่สำหรับลูกน้อยที่ทานยาก เค้าจะรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลง และไม่ยอมดูดนมจากขวดเอาง่ายๆ คุณแม่ต้องใจแข็งเข้าไว้ เพราะลูกอาจไม่ยอมดูดนมจากขวด 2-5 วันเลยทีเดียว ทางที่ดีควรใช้วิธีด้านบน ค่อยๆเป็น ค่อยๆไป จะดีกว่าค่ะ

 

ในระหว่างการเปลี่ยนนมนั้น น้องอาจถ่ายแข็งขึ้น หรือเหลวไปบ้าง คุณแม่ไม่ต้องกังวลใจไปค่ะ เพราะน้องอยู่ระหว่างการปรับลำไส้ ไม่เกิน 3-5 วัน ก็จะเข้าที่เอง แต่หากลูกน้อยไม่มีการถ่ายเลยภายใน 7 วันหลังการเปลี่ยนนม คุณแม่อาจต้องมองหานมชงยี่ห้ออื่นมาแทน เพราะระบบขับถ่ายน้องอาจไม่เหมาะกับนมชงที่เพิ่งเปลี่ยนไป

หากนมชงที่ให้เป็นนมวัว คุณแม่ควรสังเกตอาการลูกน้อย ว่ามีผดผื่นขึ้น ท้องเสีย หรือ หายใจติดขัด หรือไม่ เพราะลูกน้อยอาจแพ้นมวัว คุณแม่จะได้แก้ไขอาการลูกน้อยได้อย่างทันท่วงที และอาจต้องเปลี่ยนชนิดของนมไปเป็นนมแพะ หรือนมพิเศษที่ไม่มีส่วนผสมของนมวัวแทน

 

 

เขียนโดย www.babekits.com