การป้อนยาลูก เป็นปัญหาหนักอกสำหรับคุณพ่อคุณแม่เกือบทุกบ้าน เพราะเจ้าตัวเล็กทานยายากมาก ขนาดคุณพ่อคุณแม่ช่วยกันล็อค ยังเอาไม่อยู่ กว่าจะเอายาเข้าปากได้ ก็บ้วนทิ้งซะหมด วันนี้เรามาบอก เทคนิคป้อนยาลูก เมื่อลูกกินยายาก มาฝากกันค่ะ

 

เทคนิคป้อนยาลูก เมื่อลูกกินยายาก

พยายามให้ยาที่มีปริมาณการกินน้อยที่สุด เพื่อไม่ให้ลูกท้อใจเมื่อเห็นปริมาณยาที่ต้องทาน คุณแม่ควรปรึกษากับคุณหมอ หรือเภสัชกร หายาที่เหมาะสมที่สุด ยาบางชนิด จะมีการใส่ตัวยาในปริมาณที่ต่างกันลงในขวด เป็นสูตรสำหรับเด็กแต่ละช่วงวัย ดังนั้น ถ้าคุณแม่เลือกยาได้ถูกกับวัยของลูกน้อย เค้าก็ไม่ต้องกินยาในปริมาณมาก โดยไม่จำเป็น

 

ตรวจสอบรสชาติยาของลูกน้อย คุณแม่ลองสอบถามกับ คุณหมอ หรือเภสัชกร ว่าตัวไหนมีรสขม สามารถผสมน้ำหวานได้หรือไม่ หรือมีตัวเลือกอื่น เข่น ยายี่ห้ออื่นที่มีตัวยาชนิดเดียวกัน แต่มีรสชาติหวาน อาจเป็นรสผลไม้ เพื่อใช้โน้มน้าวให้ลูกทานยาได้ง่ายขึ้น

 

ตรียมอุปกรณ์ให้พร้อมสำหรับทานยา ไม่ว่าจะเป็นจุกนม หรือ ไซริงค์ (กระบอกฉีดยา ที่ไม่มีเข็ม) และน้ำเปล่าสำหรับดื่มล้างคอ ทั้งหมดนี้ ควรจะวางไว้ข้างกายคุณแม่ ให้พร้อมหยิบจับทุกเมื่อ แต่ต้องระวัง อย่าให้อยู่ใกล้ลูก ไม่งั้นอาจถูกชนจนกระเด็นถ้าลูกดิ้นในระหว่างทานยา หากลูกน้อยต้องทานยาหลายตัว คุณแม่ควรบรรจุลงไซริงค์ หลายอันไว้ให้พร้อม เพื่อให้ง่ายต่อการหยิบจับ

 

ป้อนยาลูกน้อย โดยเลือกวิธีให้เหมาะกับวัย ถ้าเจ้าตัวน้อยยังอยู่ในวัยแรกเกิด – 1 เดือน คุณแม่สามารถใส่ยาลงในจุกนมที่ไม่ต้องประกอบฝา และขวดนม ให้ลูกดูดเอง แต่ต้องรีบเอาออกทันทีเมื่อยาหมด ไม่งั้นลูกน้อยจะดูเอาอากาศเข้าไป ทำให้มีลมในกระเพาะ จนเค้าอึดอัดได้ สำหรับเจ้าตัวน้อยที่มีอายุ 1 เดือน ขึ้นไป คุณแม่สามารถป้อนยาโดยใช้ไซริงค์ ซึ่งจะเป็นวิธีที่สะดวกกว่าการใช้ช้อนชา โดยอุ้มลูกไว้ในวงแขน หาผู้ช่วยจับแขนจับขาสักนิด กันลูกดิ้น และป้อนยาโดยฉีดยาเข้าไปที่กระพุ้งแก้มของลูกน้อย ไม่ควรจะฉีดตื้น หรือ ลึกไปถึงคอ เพราะจะทำให้เจ้าตัวเล็กถุยยาออก หรือ สำลักได้ ถ้าลูกน้อยไม่ยอมอ้าปาก ให้นอนราบ แล้วบีบแก้มให้ปากห่อๆ จึงค่อยสอดไซลิงค์เข้าไป

 

ติดสินบนด้วยรางวัล หรือขนมโปรด ถ้าเจ้าตัวเล็กโตพอ ลองพูดคุยกับเค้าเลยว่า “ยาอาจจะไม่อร่อย แต่ถ้าทานเสร็จแล้ว แม่มีขนมของโปรดให้ด้วยนะจ๊ะ” เพียงเท่านี้ ลูกน้อยก็ยอมกลั้นใจกินเอง โดยที่คุณแม่ไม่ต้องเหนื่อยเลย

 

ยอเท่านั้น ที่ครองใจลูก คุณแม่ลองเอาน้ำเปล่า น้ำแดง หรือน้ำผลไม้ มาใส่ไซริงค์ให้ลูกฉีดทานเองเล่นๆ เป็นการสร้างความเคยชินไว้ก่อน พอถึงเวลาทานยา ก็ใส่ยาลงไป ให้ลูกบีบทานเอง  และอย่าลืมเกณฑ์กำลังคนทั้งบ้าน ให้มาคอยปรบมือ เชียร์ กระตุ้นให้ลูกทานยา ที่สำคัญ อย่าลืมชมเชยเมื่อลูกทานยาหมดด้วยนะคะ ทริคนี้ใช้ได้ผลมานัดต่อนัดแล้ว เพราะลูกน้อยต้องการเป็นที่สนใจจากคุณพ่อคุณแม่นั่นเอง

 

หลีกเลี่ยงการโกหกลูก ว่ายาอร่อย หากยามีรสชาติขม คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรจะโกหกลูก เพราะมันอาจใช้ได้เพียงครั้งเดียว และอาจทำให้ลูกน้อยฝังใจ จนไม่ยอมทานยาอื่นๆอีกเลย คุณแม่ควรจะหาทางหลอกล่อด้วยวิธีอื่น เช่น “ดูสิ!! ยานี้สีแดงสวยมากเลย แม่ว่า มันต้องมีรสเหมือนสตอเบอร์รี่แน่เลย ไหน ลูกลองชิมแล้วบอกแม่ให้หน่อยสิจ๊ะ”

 

หลีกเลี่ยงการผสมยาลงในนม หรืออาหาร แคลเซียมในนม มีผลต่อการดูดซึมยา ทำให้เจ้าตัวน้อยได้รับตัวยาน้อยกว่าที่ควร ส่วนยาที่ไม่ได้รับผลกระทบจากนม หากลูกทานนมไม่หมด ก็ได้ตัวยาไม่ครบเช่นเดียวกัน การผสมยาลงในอาหาร หรือนม จะทำให้รสชาติเปลี่ยน จนอาจทำให้ลูกน้อยปฏิเสธการทานนม และอาหารชนิดนั้นอีกด้วย

 

กินยาตามแพทย์สั่ง หรือ ตามฉลากข้างขวด อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะยาฆ่าเชื้อ ต้องกินให้หมดขวด แม้ว่าลูกน้อยจะหายแล้วก็ตาม เพราะเชื้ออาจจะยังไม่ตาย แต่แค่อ่อนแรงเท่านั้น หากคุณแม่หยุดยา ก็รอวันที่เชื้อโรคจะกลับมาแข็งแรง และทำให้ลูกน้อยป่วยอีก และหากเชื้อนั้นเกิดพัฒนาตัวเองจนเอาชนะยาขึ้นมาได้ จะเกิดอาการดื้อยา ทำให้ยาชนิดเดิมใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป จำเป็นที่จะต้องใช้ยาที่แรงกว่าเดิม

 

 

แม้การป้อนยาจะเป็นเรื่องยาก แต่ลูกน้อยจะหายป่วยได้ ก็เพราะการป้อนยาของคุณพ่อคุณแม่ Babekits ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกๆบ้านค่ะ

 

 

เขียนโดย www.babekits.com