อาการไข้ สำหรับเจ้าตัวเล็กแล้ว ไม่ใช่เรื่องเล็กๆเลย เพราะถ้าลูกน้อยมีไข้สูงมาก อาจทำให้ชักได้ ซึ่งจะส่งผลเสียกับสมองโดยตรง ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ จึงควรรู้จักวิธีรับมือ เมื่อลูกน้อย มีไข้ เพื่อที่จะแก้ไขได้อย่างทันท่วงที

 

รู้ได้อย่างไร ว่าลูกน้อย “เป็นไข้”

โดยปกติแล้ว อุณหภูมิร่ายกายของเด็กเล็ก จะค่อนข้างสูงกว่าผู้ใหญ่ ทำให้คุณพ่อคุณแม่บางคน มักวิตกกังวลไปเอง ว่าลูกมีไข้ ทั้งๆที่เป็นอุณหภูมิปกติของเค้า อาการไข้ คือ ภาวะที่ร่ายกายของลูกน้อย มีอุณหภูมิสูงกว่าปกติ โดยมีเกณฑ์ ตามนี้ค่ะ

–          อุณหภูมิ สูงกว่า 37.4 องศาเซลเซียส เมื่อวัดทางปาก

–          อุณหภูมิ สูงกว่า 37.8 องศาเซลเซียส เมื่อวัดทางรักแร้

ถ้าอุณหภูมิ อยู่ระหว่าง 37.4-38.4 องศาเซลเซียส จัดว่า มีไข้ต่ำ และหากอุณหภูมิตั้งแต่ 38.5 องศาเซลเซียส ขึ้นไป จัดว่า มีไข้สูง

 

7 วิธีรับมือ เมื่อลูกน้อย มีไข้

เช็คอุณหภูมิของลูกน้อย ก่อนทานยา และหมั่นเช็คอุณหภูมิทุกๆ 30 นาที เพื่อสังเกตอาการไข้ของลูกน้อยอย่างใกล้ชิด

ทานยาลดไข้ ตามปริมาณที่ระบุอยู่ข้างขวดยา โดยปกติแล้ว ยาลดไข้ออกฤทธิ์ จะเริ่มเห็นผลเมื่อทานไปแล้ว ภายใน 30 นาที หากเป็นไข้ปกติ ไข้จะลดภายใน 30 นาที และอาจเริ่มตัวร้อนขึ้นอีก หลังจากทานยาไปแล้ว 3.5-6 ชั่วโมง คุณพ่อคุณแม่ ควรป้อนยาลูก ทุกๆ 4-6 ชั่วโมง ตามที่ระบุไว้อย่างเคร่งครัด หากทานยาไปแล้ว 30 นาที ไข้ยังไม่ลด หรือ ไข้เริ่มมีขึ้นอีกภายใน 1-3 ชั่วโมง ให้รีบพาลูกน้อยไปพบแพทย์ เพราะอาจเป็นไข้หวัดใหญ่ หรือไข้หวัดที่ร้ายแรง ได้

เช็ดตัวให้ลูกน้อย หลังจากทานยาแล้ว ระหว่างรอให้ยาลดไข้ออกฤทธิ์ คุณพ่อคุณแม่ ควรรีบเช็ดตัวให้กับลูกน้อย ให้ไข้ลดก่อน ป้องการอาการชัก การเช็ดตัวเป็นวิธีที่เห็นผลได้เร็วที่สุด และยังเป็นสิ่งแรกที่ทางโรงพยาบาลจะทำให้ เพื่อตรวจพบอาการไข้ในเด็กเล็กๆ อีกด้วย การเช็ดตัวที่ถูกวิธี จะช่วยให้ไข้ลดลงภายใน 15 นาที และหมั่นเช็ดตัวทันทีที่พบว่า ลูกน้อยไข้เริ่มขึ้นสูงขึ้นอีก

สวมใส่เสื้อผ้าเนื้อบางเบา สบายตัว เพื่อช่วยระบายความร้อน และหลีกเลี่ยง การห่มผ้า การห่อตัว เพราะจะทำให้ตัวลูกน้อยมีอุณหภูมิสูงขึ้น

กระตุ้นให้ลูกน้อยดื่มน้ำมากๆ  เพื่อชดเชยน้ำที่สูญเสียไปจากพิษไข้

หมั่นให้ทานนม ผลไม้ หรืออาหารที่ย่อยง่ายๆ ครั้งละน้อยๆ แต่บ่อยครั้ง คุณแม่ลองสังเกตภายในช่องปากของลูกน้อยดูนะคะว่า มีแผลร้อนในรึเปล่า เพราะแผลร้อนในมักเกิดขึ้นในระหว่างที่มีไข้ และเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ลูกมีอาการเบื่ออาหาร กลืนอะไรไม่ได้เพราะเจ็บแผล

ให้ลูกน้อยนอนพักผ่อนมากๆ ชดเชยอาการเพลียที่มาจากฤทธิ์ไข้

 

เพียงเท่านี้ คุณพ่อคุณแม่ก็พร้อมรับมือกับลูกน้อยแล้วค่ะ อาจจะเหนื่อยสักหน่อย เพราะในช่วงนี้ เจ้าตัวน้อยจะงอแง และไม่ยอมอยู่ห่างคุณแม่เลย บางทีคุณแม่ อาจต้องอุ้มเจ้าตัวน้อยเกือบตลอดเวลาด้วย แต่เมื่อไข้ทุเลาลงแล้ว เค้าก็จะกลับมาร่าเริง เล่นสนุกได้เหมือนเดิมค่ะ ขอเป็นกำลังใจให้กับคุณแม่ทุกคน ให้น้องหายป่วยไวไวนะคะ

 

เขียนโดย www.babekits.com