คุณแม่ที่เลี้ยงลูกเอง มักจะพบเจอปัญหาเรื่อง ลูกไม่ยอมกินข้าว จนกังวลใจว่า ลูกน้อยจะขาดสารอาหาร หรือโตไม่ทันเด็กในรุ่นเดียวกัน ซ้ำยังได้ยินเสียงรอบข้าง จากญาติผู้ใหญ่บ่นว่า “เลี้ยงลูกยังไง ลูกตัวเล็กนิดเดียว ข้าวปลาก็ไม่ยอมกิน” ฯลฯ เพิ่มความเครียดให้คุณแม่มากขึ้นไปอีก
วันนี้ Babekits จึงขอนำเสนอ 6 เทคนิค พิชิตใจลูกกินยาก มาฝากทุกครอบครัวกัน จะได้ผลมากหรือน้อย ต้องลองปฏิบัติกันดูนะคะ
6 เทคนิคพิชิตใจ ลูกกินยาก
สำรวจลูกน้อย ว่ามีสิ่งผิดปกติ หรือโรคใดใด หรือไม่
สิ่งแรก คือ คุณแม่ต้องสำรวจตัวลูกน้อยก่อน ว่ามีสิ่งผิดปกติ หรือโรคใดๆ แฝงอยู่ ทำให้ลูกไม่ยอมกินข้าว หรือไม่ เช่น เด็กที่เป็นลิ้นแผนที่ มักจะมีแผลในปาก และเป็นอุปสรรคต่อการทานอาหาร จำเป็นต้องรับประทานอาหารรสจืด หรือ ลูกน้อยที่อยู่ในวัยฟันน้ำนมกำลังขึ้น มักจะปวดเหงือก ทำให้ไม่อยากทานอาหาร จำเป็นต้องเตรียมอาหารอ่อนให้แทน การรู้จักสิ่งผิดปกติที่เกิดกับลูกน้อย จะทำให้คุณแม่สามารถเตรียมอาหารรับมือในแต่ละมื้อได้ดี
สำรวจลูกน้อย ด้วยการชั่งน้ำหนัก และวัดส่วนสูง
สังเกตกราฟการเจริญเติบโต ด้วยการชั่งน้ำหนัก และวัดส่วนสูงเทียบกับเกณฑ์ปกติตามวัยของลูก และบันทึกชนิด ปริมาณของอาหารที่ลูกกินเข้าไป รวมทั้งขนม และนมในแต่ละมื้อ และแต่ละวันด้วยคะ ถ้าเจ้าตัวน้อยไม่ยอมกินข้าว แต่ยังกินนม และน้ำหนักไม่ได้ตกเกณฑ์ คุณแม่ก็ไม่ต้องกังวลไปคะ เพราะอย่างน้อย ลูกของเราก็ยังสดใส ร่าเริง เล่นซนได้ปกติจ้า
ปรับพฤติกรรมช่วยให้ลูกหิวเมื่อถึงเวลากิน
คุณพ่อคุณแม่ ต้องกำหนดเวลารับประทานอาหารให้ลูก โดยให้กินเป็นเวลา และแยกมื้อเช้า กลางวัน และเย็น ออกจากกันให้ชัดเจน คุณแม่ต้องแข็งใจไว้ ไม่ควรให้ลูกกินขนม หรือ ของว่าง ระหว่างมื้อ แต่ถ้าลูกเกเร คุณแม่อาจตั้งเงื่อนไขว่า ทานขนมได้ หลังจากกินอาหารมื้อหลักให้หมดก่อน ในกรณีที่ลูกไม่ยอมกินอาหารมื้อหลัก ให้เก็บรอไปกินในมื้อถัดไป พอลูกหิวก็จะกินเองค่ะ
อาหารชวนน่ากิน มีการปรับเปลี่ยน ไม่ซ้ำซากจำเจ
เพิ่มความอยากทานอาหารให้กับลูก ด้วยอาหารจานโปรด และเพื่อไม่ให้เกิดความจำเจ คุณแม่ควรปรับเปลี่ยน หรือสรรหาอาหารน่ากินใหม่ๆ มาเพื่อหลอกล่อ จูงใจลูก อาจใช้วิธีการตกแต่งให้ดูเก๋ไก๋ หรือนำวัตถุดิบที่ลูกโปรดปราน มาปรับเปลี่ยนรูปแบบ สร้างสรรค์เป็นเมนูใหม่ๆ ชวนให้ลูกตั้งตารอคอยอาหารมื้อต่อไปอย่างใจจดจ่อ เลยก็เป็นได้ค่ะ
สร้างบรรยากาศให้เหมาะแก่การรับประทานอาหาร
บรรยากาศที่ดีที่สุด ก็คือ การรับประทานอาหารพร้อมหน้ากันทั้งครอบครัว เป็นการสร้างนิสัยให้กับลูก ทำให้ลูกรู้ว่า เมื่อทุกคนนั่งรวมกันที่โต๊ะอาหาร ก็คือเวลาของการรับประทานอาหาร คุณแม่อย่าลืมนำของเล่น หรือสิ่งอื่นใดที่อาจมาเบี่ยงเบนความสนใจของลูกออกไป ด้วยนะคะ
ฝึกให้ลูกทานอาหารด้วยตัวเอง
การหยิบจับช้อนส้อม เพื่อเริ่มต้นตักอาหารเข้าปากเอง ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ท้าทาย และน่าตื่นเต้นสำหรับเด็กวัยเริ่มหัดทานอาหาร ดังนั้น คุณแม่ควรส่งเสริมให้ลูกน้อยสนุกกันการกินอาหาร โดยจัดช้อน ส้อม เอาไว้ข้างจานข้าว เสมอ หากลูกน้อยยังไม่เริ่มต้นจับช้อนส้อมเอง คุณแม่ลองหาช้อนส้อมอีกชุด เอาไว้สำหรับป้อนเค้าโดยเฉพาะค่ะ และตักอาหารให้เค้าดู เป็นการกระตุ้นเค้าอีกทางหนึ่ง ที่สำคัญ คุณแม่ต้องเข้าใจว่า วัยเริ่มทานอาหารนี้ จะให้เค้ากินเรียบร้อย โดยไม่ทำหกเลอะเทอะ คงเป็นไปไม่ได้ อย่าถือเอามาเป็นอารมณ์นะคะ
การปรับให้ลูกกินง่าย สำหรับเด็กบางคนอาจต้องใช้เวลานานหลายเดือน ดังนั้น คุณแม่ต้องอดทน อย่าเพิ่งล้มเลิก หรือท้อถอยไปเสียก่อนนะคะ ลองใช้หลัก เทคนิคพิชิตใจ และปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ด้วยอารมณ์ดี ไม่หงุดหงิดในเวลากินอาหารของลูกนะคะ ทาง Babekits ขอเป็นกำลังใจให้ทุกครอบครัวนะค่ะ
เขียนโดย www.babekits.com